05 January 2022

ทางเลือกในการระดมทุนของผู้ประกอบการอสังหาฯ

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยนอกจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญในด้านอสังหาโดยพื้นฐานแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่พึ่งพาเงินลงทุนที่สูง และมีระยะเวลาในการลงทุนค่อนข้างยาว ธุรกิจนี้จึงมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น จึงทำให้ธุรกิจนี้จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก หากผู้ประกอบการมีฐานทุนที่จำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการพัฒนาอย่างรอบคอบทั้งในด้านการก่อสร้าง การขาย และการหาเงินทุน ตลอดจนการบริหารสภาพคล่องตลอดระยะเวลาการพัฒนา เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสในการสูญเสียในอนาคต

ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นทางเลือกหลักในการระดมทุนนอกเหนือจากทุนทรัพย์ของผู้ประกอบการเองจะมีวงเงินสินเชื่อโครงการซึ่งต้องมีหลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโครงการที่พัฒนา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย โดยเฉพาะรายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังสามารถเลือกระดมจากนักลงทุนโดยตรงผ่านการออกหุ้นกู้ทั้งประเภทที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีความน่าเชื่อถือจากการจัดอันดับเครดิตองค์กรจากสถาบันจัดอันดับเครดิตอยู่แล้ว การระดมทุนผ่านช่องทางนี้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำและมีความคล่องตัวมากกว่าการระดมผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมักกำหนดเงื่อนไขสินเชื่อที่มากกว่า เช่น เงื่อนไขการเบิกที่ให้เบิกเมื่อมียอดขายขั้นต่ำที่กำหนด เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการรายกลางหลายราย อาจสามารถออกหุ้นกู้แบบไม่ต้องใช้อันดับเครดิตได้หรือที่เรียกว่า “นอน-เรท” ได้เช่นกัน แต่จะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงกว่าการออกหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือจากอันดับเครดิตจากสถาบันจัดอันดับเครดิต

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังเข้าไม่ถึงช่องทางการระดมทุนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของโครงการที่เล็ก ขาดประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการ มีประวัติการชำระหนี้ในอดีตที่ไม่ดี เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการเหล่านี้มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนก็ยังอาจสามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินประเภทที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า “นอน-แบงก์” ซึ่งสถาบันการเงินประเภทนี้จะเสนอเงื่อนไขสินเชื่อที่แตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของวงเงินที่ต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า โดยอาจมีหลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในโครงการที่พัฒนา (สินเชื่อโครงการ) หรือมีหลักประกันที่ไม่อยู่ในโครงการที่พัฒนา (สินเชื่ออเนกประสงค์) เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบอาจสามารถเลือกระดมทุนจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการได้เช่นกัน โดยกำหนดให้มีการชำระเงินค่าซื้อล่วงหน้า เพื่อแลกส่วนลดซึ่งคำนวณจากดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการประหยัดได้ เป็นต้น ในการคำนวณส่วนลดจากดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ จะต้องคำนึงถึงระยะเวลากว่าที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจนสามารถโอนยูนิตให้กับผู้ซื้อได้ รวมทั้งต้นทุนดอกเบี้ยที่แท้จริงของผู้ประกอบการ เพื่อใช้ในการคำนวณส่วนลด หรือผู้ประกอบการสามารถระดมทุนผ่านผู้ซื้อในช่วงที่โครงการใกล้แล้วเสร็จ โดยเสนอผลตอบแทนหลังการโอนให้กับผู้ซื้อ เช่น 7% ต่อปี เป็นต้น โดยเป็นผลตอบแทนแบบให้เปล่า หรือเพื่อตอบแทนที่ผู้ซื้อนำยูนิตที่ซื้อกลับมาให้ผู้ประกอบการบริหารการเช่า ซึ่งกรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องนำผลตอบแทนดังกล่าวรวมเข้าไปกับราคาขายยูนิต โดยการระดมทุนจากผู้ซื้อจะเป็นการระดมในรูปแบบที่ไม่มีหลักประกัน

ท้ายสุดผู้ประกอบการอาจเลือกให้มีการร่วมทุนในระดับโครงการ โดยกำหนดสัดส่วนตามวงเงินที่เหมาะสม แต่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะสามารถระดมทุนได้จากช่องทางใดช่องทางหนึ่งข้างต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการระดมทุนคือการรักษาเครดิตความน่าเชื่อถือของตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งความน่าเชื่อถือที่ได้สร้างขึ้นจะส่งผลระยะยาวต่อความสามารถในการระดมได้ของผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป